วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556

แก๊งล่าพะยูนคืนชีพส่งไปนอกหัวละ 1.5 หมื่น




ตรัง - แก๊งล่าพะยูนกลับมาอาละวาดทะเลตรังอีกครั้ง โดยเน้นเฉพาะหัวที่มีราคาสูงถึงชิ้นละ 1.5 หมื่นตามออเดอร์จากเมืองนอกที่สั่งไปทำยาโด๊ป แกนนำชี้ปล่อยไว้อย่างนี้ไม่กี่ปีสูญพันธุ์แน่
      
       วันที่ 14 ม.ค.56 นายอิสมาแอน เบ็ญสะอาด แกนนำชมรมการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ชุมชนเกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง กล่าวว่า ในปี 2555 ถือเป็นช่วงที่วิกฤตที่สุดของพะยูนสัตว์อนุรักษ์ที่มีชื่อเสียงของ จ.ตรัง เนื่องจากได้พบการตายลงไปเป็นจำนวนมากประมาณ 17 ตัว ทั้งซาก 11 ตัว และที่ซากสูญหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุอีกไม่น้อยกว่า 5-6 ตัว สวนทางกับการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พะยูน แต่กลับไม่สามารถปกปักรักษาสัตว์ทะเลชนิดนี้เอาไว้ได้อย่างที่ควรจะเป็น
      
       ทั้งนี้ พะยูนที่ตายลงไปจะมีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 1-20 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดมาจากปัญหาเดิมๆ เรื่องเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย เช่น อวนปลากระเบน หรือเบ็ดราวไว ที่ยังคงพบเห็นได้ในบางพื้นที่ของ อ.กันตัง และ อ.หาดสำราญ โดยเจ้าหน้าที่ก็มีข้อมูลที่ชัดเจนแต่ไม่อาจดำเนินการอะไรได้ อันเนื่องมาจากปัญหาการทำงานที่ซับซ้อนของหลายหน่วยงานประกอบกับความไม่จริงใจ หรือการใส่เกียร์ว่าง รวมทั้งอาจจะมีเรื่องของประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้ยังคงพบเห็นพะยูนต้องตายลงไปด้วยสาเหตุเหล่านี้
      
       ที่สำคัญก็คือ ขบวนการล่าพะยูนเพื่อส่งขายไปยังต่างประเทศกำลังเริ่มที่จะลงมืออย่างรุนแรงมากขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากมีออเดอร์สั่งซื้อเข้ามา แถมนายทุนยังให้ราคาสูงล่อใจ โดยเฉพาะส่วนหัวของพะยูนซึ่งมีราคาในตลาดมืดสูงถึงชิ้นละ 15,000 บาท เพื่อนำไปเป็นส่วนผสมของยาชูกำลัง หรือยาโด๊ป อย่างเช่นหัวกูปรีที่สูญพันธุ์ไปแล้ว หรือเลียงผา ที่กำลังจะสูญพันธุ์
      
       นอกจากนั้น ยังมีการนำซากไปแอบฝังดินให้เปื่อยยุ่ย แล้วรอวันขุดกระดูกขึ้นมาเพื่อส่งขายไปยังต่างประเทศ เพื่อนำไปเป็นส่วนผสมของยาโด๊ปอีกเช่นกัน หากเปรียบเทียบกับพะยูนที่คาดว่าจะมีเหลืออยู่ในทะเลตรัง ประมาณ 150 ตัว กับจำนวนที่ตายลงไปปีละไม่น้อยกว่า 15 ตัว อย่างในสถานการณ์ขณะนี้ เชื่อว่าอีกไม่กี่ปีพะยูนก็อาจจะเกิดการสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย เพราะสถานการณ์ของการคุกคามได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เลวร้ายมากขึ้น แม้จะมีหน่วยงานด้านอนุรักษ์ และมีกฎหมายมากมายเพียงใด หากไม่มีแกนนำหลัก หรือมีแผนงานที่กำหนดมาตรการในระยะยาวอย่างชัดเจน พะยูน และทรัพยากรทางทะเลต่างๆ ก็จะถูกทำลายจนหมดไป
      
       นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กล่าวถึงสถานการณ์พะยูนในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ค่อนข้างจะวิกฤต โดยในปี 2555 พบพะยูนตายลงไปแล้ว จำนวน 11 ตัว โดยเป็นพะยูนใน จ.ตรัง 10 ตัว และใน จ.ภูเก็ต 1 ตัว สำหรับสาเหตุสำคัญมาจากการใช้เครื่องมือการทำประมงประเภทอวนที่ทำให้พะยูนว่ายน้ำเข้าไปติด และไม่สามารถออกมาได้เมื่อไม่มีอากาศหายใจก็จะตายลงไปในที่สุด
ข้อมูลจาก.. ASTV Manager ภาคใต้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป